ฤดูกาลแข่งของลีกNBA

ฤดูกาลปกติ[แก้]

แต่ละทีมเริ่มเทรนนิงแคมป์ (training camp) ในเดือนตุลาคม ช่วงนี้ช่วยให้สตาฟโค้ชประเมินผลผู้เล่น โดยเฉพาะผู้เล่นหน้าใหม่ที่จะเล่นในปีแรก ตรวจสอบจุดแข็งและจุดอ่อนของทีม และเตรียมความแข็งแรงของร่างกายผู้เล่นเพื่อให้พร้อมสำหรับฤดูกาลปกติ คัดผู้เล่นในรายชื่อทีม ซึ่งมีได้ 12 คน รวมกับรายชื่อผู้เล่นบาดเจ็บอีก 3 คน ทีมยังสามารถกำหนดผู้เล่นที่มีประสบการณ์น้อยกว่าสองปีไปเล่นในดี-ลีก (NBA Development League หรือ D-League) เพื่อพัฒนาฝีมือก่อน
หลังจากเข้าแคมป์ จะมีการแข่งนัดกระชับมิตร (exhibition game) จำนวนหนึ่ง แล้วต่อด้วยฤดูกาลปกติซึ่งเริ่มในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน
ในฤดูกาลปกติ แต่ละทีมจะแข่งทั้งหมด 82 เกม แบ่งเป็นเกมเหย้าและเกมเยือนอย่างละครึ่ง ทีมจะพบกับทีมอื่นในดิวิชันเดียวกัน 4 ครั้ง พบกับทีมในดิวิชันอื่นแต่ในคอนเฟอร์เรนซ์เดียวกัน 3 ถึง 4 ครั้ง และทีมในอีกคอนเฟอร์เรนซ์ 2 ครั้ง ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ลีกในอเมริกาเหนือที่มีการแข่งแบบพบกันหมด และมีการแข่งแบบเหย้าและเยือนกับทีมอื่นอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ฤดูกาลปกติจะจบประมาณปลายเดือนเมษายน
ในเดือนกุมภาพันธ์ จะหยุดการเล่นฤดูกาลปกติชั่วคราว เพื่อจัดเกมรวมดาราเอ็นบีเอและกิจกรรมอื่นๆ เช่นเกมรูกี (Rookie game) ซึ่งเป็นการพบกันระหว่างผู้เล่นปีแรกที่เก่งที่สุดแข่งกับผู้เล่นปีที่สองที่เก่งที่สุด การแข่งขันชู้ตสามคะแนน การแข่งสแลมดังก์เป็นต้น
ในระหว่างฤดูกาลปกติ ทีมสามารถเทรดผู้เล่นได้จนถึงวันสุดท้าย ซึ่งกำหนดไว้หลังเกมรวมดาราไม่นาน หลังจากวันนั้นทีมไม่สามารถเทรดได้ แต่ยังสามารถเซ็นสัญญาหรือปล่อยตัวผู้เล่นได้

รางวัล[แก้]

เมื่อจบฤดูกาลปกติ จะมีการโหวตและให้รางวัลได้แก่ รางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า (Most Valuable Player Award), รางวัลผู้เล่นตัวสำรองแห่งปี (Sixth Man of the Year Award), รางวัลผู้เล่นหน้าใหม่แห่งปี (Rookie of the Year Award), รางวัลผู้เล่นเกมรับแห่งปี (Defensive Player of the Year Award), รางวัลผู้เล่นที่พัฒนามากที่สุด (Most Improved Player Award), รางวัลโค้ชแห่งปี (Couch of the Year Award)
นอกจากรางวัลรายบุคคลแล้ว ยังมีการจัดทีมโดยนำเอาผู้เล่นแต่ละตำแหน่งมารวมกัน ได้แก่ ทีมออล-เอ็นบีเอ (All-NBA), ทีมออล-ดีเฟนซีฟ (All-Defensive), และทีมออล-รูกี (All-Rookie) โดยทีมออล-เอ็นบีเอ มีทั้งหมดสามทีม ทีมแรกประกอบด้วย การ์ด 2 คน, ฟอร์เวิร์ด 2 คน และ เซ็นเตอร์ 1 คนที่เก่งที่สุดในเอ็นบีเอ ส่วนทีมสองและทีมสามประกอบด้วยผู้เล่นทั้งห้าตำแหน่งนี้ที่เก่งรองลงมา ทีมออล-ดีเฟนซีฟ มีสองทีม ประกอบขึ้นจากนักบาสที่เก่งด้านเกมรับทีมละ 5 คน (โดยไม่มีการแบ่งตำแหน่งผู้เล่น) ส่วน ออล-รูกี ก็มีสองทีมเช่นเดียวกัน รวบรวมผู้เล่นหน้าใหม่ที่เก่งที่สุด 5 คน (ไม่มีการแบ่งตำแหน่งผู้เล่น)

ฤดูกาลเพลย์ออฟ[แก้]

เพลย์ออฟเริ่มต้นราวปลายเดือนเมษายน แต่ละคอนเฟอเรนซ์จะคัดทีมเข้าแข่งคอนเฟอเรนซ์ละ 8 ทีม ทีมอันดับดีที่สุดในสายทั้งสามและอีกทีมที่ได้สถิติดีที่สุดรองลงมาจะถูกวางอันดับที่ 1 ถึง 4 ตามสถิติของฤดูกาลปกติ กล่าวคือสามอันดับแรกไม่จำเป็นต้องเป็นแชมป์สายเสมอไป ส่วนทีมอันดับที่ 5 ถึง 8 ได้จากทีมที่มีสถิติดีถัดไปอีก 4 ทีม รวมเป็น 8 ทีมต่อคอนเฟอเรนซ์
ทีมที่อยู่อันดับต้น ๆ มีข้อได้เปรียบ โดยทีมอันดับแรกจะประกบกับทีมอันดับสุดท้าย ทีมอันดับสองประกบกับทีมอันดับที่เจ็ด ฯลฯ ทีมที่มีสถิติดีกว่าจะได้แข่งที่บ้านต้นเองก่อน ทีมในคอนเฟอเรนซ์จะแข่งแบบชนะ 4 ใน 7 เกม ทีมที่ชนะสี่เกมก่อนจะได้ผ่านเข้าในรอบถัดไป จนได้แชมป์คอนเฟอเรนซ์ตะวันออกและตะวันตกมาพบกันในรอบไฟนอล ทีมที่ชนะจะเป็นแชมป์เอ็นบีเอ ได้ถ้วย แลรรี โอ ไบรอัน ส่วนผู้เล่นและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น โค้ช ผู้จัดการทีมทั่วไป จะได้แหวนแชมป์ ลีกยังมีรางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าเอ็นบีเอรอบไฟนอลให้อีกด้วย รอบไฟนอลจะแข่งในเดือนมิถุนายน
รูปแบบการแข่งในรอบต่าง ๆ ยกเว้นรอบไฟนอลใช้สูตร 2-2-1-1-1 กล่าวคือเล่นในบ้านของทีมสถิติดีกว่าสองเกม แล้วสลับไปเล่นบ้านอีกทีมสองเกม สลับกลับมาทีมเดิมหนึ่งเกมจนกว่าได้ทีมที่ชนะ 4 ใน 7 เกม ส่วนรอบไฟนอลใช้สูตร 2-3-2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น